วันเสาร์ที่ 29 มกราคม พ.ศ. 2554

SuN_ReDSoL







 
 Review & Test     Korg Toneworks AX3000G กับการอัพเกรดครั้งยิ่งใหญ่     25/10/2548    
Korg Toneworks AX3000G กับการอัพเกรดครั้งยิ่งใหญ่
เปิดตัวกันอย่างเป็นทางการไปแล้วกับน้องใหม่ในครอบครัว Toneworks กับ AX3000G ซึ่งเป็นอีกหนึ่งความภูมิใจที่ Korg Toneworks นำเสนอ กับหลายสิ่งหลายอย่างที่ได้รับการพัฒนาขึ้นมา ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของซาวด์ หรือจะเป็นฟังค์ชั่นการทำงาน รวมไปถึงลูกเล่นแปลกๆใหม่ๆอย่าง ESS (Expression Step Sequencer) ที่จะทำให้คุณสนุกกับการใช้ AX3000G ในการสร้างกลเม็ดการเล่นกีตาร์ให้ดูหวือหวายิ่งขึ้น
AX3000G ยังคงเป็นการนำเอาเทคโนโลยีโมเดลลิ่ง REMs เอกสิทธิ์เฉพาะของ Korg มาใช้ในกระบวนการสร้างซาวด์โมเดลลิ่ง ที่มีซาวด์แอมป์และเอฟเฟกต์ให้เลือกมากถึง 72 ชนิด และสามารถเลือกใช้ได้ 7 ชนิดพร้อมกันและยังสามารถพ่วงเอฟเฟกต์จากภายนอกเพื่อใช้งานร่วมกันได้อีกด้วย หน่วยความจำภายในสามารถบรรจุได้ 96 โปรแกรมซึ่งจะเป็นโปรแกรมพรีเซ็ตมาจากโรงงาน 32 โปรแกรม
มีการเพิ่มแป้น CONTROL เพื่อใช้ในการคอนโทรลเอฟเฟกต์ต่างๆ ในการเซ็ตโปรแกรมเราสามารถกำหนดได้ว่าจะให้แป้น CONTROL การเปิด / ปิดเอฟเฟกต์ตัวไหน หรือเป็นตัวปรับค่าพารามิเตอร์ของเอฟเฟกต์ หรือแม้กระทั่งใช้เป็นตัวคอนโทรล ESS
นอกจากนี้ AX3000G ยังสามารถรับข้อมูลการเปลี่ยนโปรแกรมและสามารถส่งข้อมูล MIDI เพื่อควบคุมอุปกรณ์ MIDI ชิ้นอื่นได้ผ่านช่อง MIDI IN/OUT และยังสามารถคอนโทรล AX3000G ผ่านโปรแกรมซอฟต์แวร์ DAW ได้อีกด้วย และ Korg ยังมีซอฟต์แวร์ "AX3000G Sound Editor" ซึ่งเป็นโปรแกรมสำหรับปรับแต่ง AX3000G เพื่อให้สามารถมองเห็นภาพการปรับแต่งค่าพารามิเตอร์ของเอฟเฟกต์ต่างๆได้ชัดเจนขึ้น ทำให้ง่ายต่อการตัดต่อ / ตกแต่งซาวด์ สำหรับใครที่มีคอมพิวเตอร์ที่มีระบบปฏิบัติการ Windows98/Me/2000/XP หรือ Mac ตั้งแต่ OS X v10 ขึ้นไปสามารถดาวน์โหลดโปรแกรมตัวนี้ได้ที่เว็บไซต์ของตัวแทนจำหน่าย Korg ของคุณ
 
ยังมีอีกหลายสิ่งหลายอย่างที่น่าสนใจเกี่ยวกับรายละเอียดการทำงานของ AX3000G ซึ่งก็คงจะไม่มีใครสามารถอธิบายได้ชัดเจนเท่ากับผู้เชี่ยวชาญที่ได้สัมผัสและใช้งานจริงๆ เรามาฟังความคิดเห็นของพี่หมู คาไลโดสโคปและคุณเอ๋ Wizard ซึ่งเป็นแฟนเหนียวแน่นของ Korg Toneworks มาตั้งแต่ AX1000G, AX1500G จนมาถึง AX3000G รุ่นอัพเกรดใหม่ล่าสุด


ความคิดเห็นจากพี่หมู คาไลโดสโคป ( ศิริศักดิ์ ศิริโชตินันท์ ) ต่อ Korg Toneworks AX3000G
" ความเปลี่ยนแปลงแรกที่สัมผัสได้ชัดที่สุดก็คือเรื่องของ " ซาวด์ " ที่รู้สึกได้เลยว่าสมจริงสมจังมากขึ้น อย่างเราเลือกหัวแอมป์ตัวไหนมันก็จะให้น้ำเสียงที่เป็นหัวแอมป์นั้นๆจริงๆ ทั้งที่ใน AX1500 ก็ทำได้ดีแล้ว … แต่ใน AX3000 นี้จะรู้สึกได้ชัดเจนมาก "
" ในส่วนของเอฟเฟกต์ที่ประทับใจก็คือมีการแยก Delay ออกมาจากที่เคยถูกนำไปรวมไว้อยู่กับพวก Reverb ทำให้สามารถเลือกรูปแบบของเอฟเฟกต์ Delay ได้มากขึ้น ตรงกับความต้องการมากขึ้น นอกจากนี้ในส่วนของเอฟเฟกต์ Drive Amp ก็มีการเปลี่ยนแปลงไปเล็กน้อย จากเดิมมีอยู่ 11 ชนิดก็เพิ่มเป็น 16 ชนิด มีซาวด์สมัยใหม่เพิ่มเข้ามามากขึ้น "
" อีกเรื่องที่ต้องพูดถึงก็คือ Wah Wah ใน AX3000G เป็นมัลติเอฟเฟกต์ที่ให้เสียงเป็นวาห์ วาห์จริงๆ เพราะคราวนี้เป็นการเลียนแบบเสียงวาห์ของ VOX Wah รุ่นคลาสสิคถึง 2 รุ่นคือ V847 Vox Wah Original กับรุ่น V848 Clyde McCoy"
" สำหรับฟังค์ชั่นใหม่ๆที่มีเข้ามานั้น ด้วยความที่ AX1500G ก็ทำออกมาได้ค่อนข้างสมบูรณ์แบบอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นสิ่งที่เพิ่มขึ้นมาก็เหมือนกับเป็นโบนัสที่ช่วยให้การใช้งานสะดวกขึ้น กว้างขึ้น ไม่ว่าจะเป็นภาคของ MIDI หรือการมีช่อง INSERT Send/Return ที่ให้เราสามารถพ่วงเอฟเฟกต์จากภายนอกเข้ามาได้ด้วย อย่างปรกติพี่ก็จะชอบพ่วงเข้ากับ Pitch Shifter และ Whammy Bar ซึ่งการมีช่อง Insert เข้ามานี้ก็ช่วยได้มาก เหมือนอย่างพวกวงสมัยใหม่อย่าง Incubus นี่จะใช้เอฟเฟกต์เยอะมาก " พี่หมู คาไลฯกล่าว
" ในการอัดเสียง … พี่ขอแค่ Distortion, Reverb และ Delay เสียงดีๆก็เพียงพอแล้ว ส่วนในการแสดงสดพี่จะปรับให้ซาวด์ออกมาเน้นความอุ่นอ้วนไว้ก่อน พี่เลือกใช้ FAT DIST เพื่อที่เวลาปรับที่หน้าตู้หรือเมื่อซาวด์ถูกขยายแล้วความพุ่งกังวานจะได้ไม่หายไป " พี่หมู คาไลฯแนะนำ
 
ความคิดเห็นจากคุณ เอ๋ Wizard ( เอกชัย กรายอานนท์ ) ต่อ
Korg Toneworks AX3000G
สำหรับคุณเอ๋ Wizard ได้กล่าวถึงการพัฒนาการของ AX3000G ในหลายจุดที่น่าสนใจดังนี้ ::
" ในเรื่องของน้ำเสียง … หายห่วงครับสำหรับ AX3000G เพราะยังคงใช้เทคโนโลยี REMs ของ Korg เหมือนกับในรุ่นก่อนหน้า ซึ่งเป็นจุดเด่นที่ทำให้ Toneworks เป็นมัลติเอฟเฟกต์ที่สามารถจำลองทั้งเสียงเอฟเฟกต์ หัวแอมป์รวมถึงตู้ลำโพงได้เป็นธรรมชาติและใกล้เคียงความเป็นออริจินัลของเอฟเฟกต์หรือตู้แอมป์นั้นๆจริงๆ และรู้สึกได้เลยว่าครั้งนี้มีการปรับปรุงคุณภาพของซาวด์ได้ดีสมจริงยิ่งขึ้นไปอีกโดยเฉพาะกับพวกเสียงแตกจะได้ยินถึงพลัง ความหนาและเนื้อเสียงที่พุ่งชัดขึ้นกว่าเดิมมาก หรือเสียง Clean ที่ดีขึ้นมากรวมถึงคราวนี้ยังมีให้เลือกหลายแบบมากขึ้น "
" และเมื่อมีการอัพเกรดจาก AX1500G มัลติเอฟเฟกต์โปรเซสเซอร์ที่สมบูรณ์แบบอยู่แล้วขึ้นมาเป็น AX3000G… แน่นอนว่าย่อมต้องมีอะไรพิเศษเพิ่มขึ้นมา มีหลายสิ่งหลายอย่างที่ทำให้ผมประทับใจกับการอัพเกรดในครั้งนี้ อย่างแรกเลยก็ฟังค์ชั่นการทำงานที่สมบูรณ์แบบอยู่แล้วยังอยู่ครบ แต่มีการเพิ่มบางอย่างเข้ามาเพื่อการใช้งานที่สะดวกมากขึ้น ส่วนจุดไหนที่ไม่จำเป็นก็ตัดออกไป "
" ว่ากันตั้งแต่แป้นเหยียบปรับเลือก BANK ที่เมื่อก่อนเวลาจะเลือก BANK UP จะกดแค่แป้นเดียวและถ้าจะเลือก BANK DOWN ต้องเหยียบ 2 แป้นซึ่งไม่สะดวกในการเล่นสดบนเวที แต่ใน AX3000G มีทั้งแป้น UP และ DOWN แยกกัน ตรงนี้ทำให้สะดวกขึ้นมาก ”

“จาากนั้นก็เป็นแป้นเหยียบ Expression Pedal ที่ใหญ่ขึ้นเหยียบได้สนุกมากขึ้น การเหยียบเปลี่ยนเอฟเฟกต์ต่างๆมีความเป็น " เรียลไทม์ " มากขึ้น ตอบสนองต่อการคอนโทรลของผู้เล่นได้อย่างทันการจริงๆ ซึ่งตรงนี้ถือเป็นจุดหนึ่งที่ได้รับการพัฒนาขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ”
" นอกจากนี้อีกอย่างหนึ่งที่ผมชอบก็คือฟังค์ชั่น AMP/LINE ที่ผมสามารถเลือกให้เหมาะกับปลายทางของสัญญาณได้ โดยที่ AX3000 จะทำการชดเชยคุณสมบัติของเสียงบางอย่างที่ยังขาดอยู่ให้สมบูรณ์แบบยิ่งขึ้น ซึ่งตรงนี้ก็จะมีให้เลือก 4 แบบ คือ AP1 ใช้ในกรณีที่คุณพ่วงกับแอมป์คอมโบหลังเปิดผลิตในอเมริกาและเน้นเสียงใสอย่างพวกตู้ Fender , AP2 ในกรณีที่พ่วงกับแอมป์ที่โดดเด่นในย่านเสียงกลางอย่างเช่นพวกแอมป์คอมโบหลังเปิดที่ผลิตในอังกฤษ , AP3 นี้เอาไว้ใช้ในกรณีที่คุณพ่วงกับแอมป์สแต็คกับตู้ลำโพงขนาด 4x12 … และสุดท้าย … Ln อันนี้สำหรับต่อตรงเข้าไลน์ไปยังเครื่องบันทึกเสียงหรือเข้าที่เพาเวอร์แอมป์ของแอมป์กีตาร์ของเรา คล้ายๆกับเป็นปรีแอมป์เสมือนจริงไปในตัว ”
" ส่วนฟังค์ชั่นใหม่ๆที่เพิ่มเข้ามา อาทิ ช่องต่อ MIDI ที่ทำให้เราสามารถพ่วง AX3000 เข้ากับอุปกรณ์ MIDI ตัวอื่นๆได้ และเพราะเป็นภาษาเดียวกันจึงทำให้เครื่องสามารถสื่อสารกันได้แม้ว่าจะเป็นอุปกรณ์ที่มาจากต่างผู้ผลิตกัน อย่างเช่นสามารถคอนโทรล AX3000G ผ่านซีเควนเซอร์และเซฟโปรแกรมลงบนซีเควนเซอร์ได้ หรือจะโอนถ่ายข้อมูลดาต้า MIDI เข้าไปปรับแต่งซาวด์จากคอมพิวเตอร์ก็ได้ ซึ่งก็อาจจะต้องมีการใช้ตัว MIDI Interface เข้ามาช่วยด้วย "
" และโดยเฉพาะช่องต่อ S/P DIF ที่เป็นช่องสำหรับสายอ็อพติคัล ดิจิตัลทำให้สามารถพ่วง AX3000 เข้ากับเครื่องบันทึกเสียงหรือมิกเซอร์ที่เป็นดิจิตัลได้ " เอ๋ Wizard อธิบาย
 
จุดหนึ่งที่ทั้งพี่หมู คาไลฯและเอ๋ Wizard เห็นตรงกันก็คือการเพิ่มเข้ามาของระบบต่อพ่วงเอฟเฟกต์จากภายนอกผ่านทางช่อง INSERT : Sen/Return ที่โดนใจอย่างมากสำหรับผู้ที่ต้องการผสมผสานซาวด์ให้ได้หลากหลายยิ่งขึ้นโดยไม่ได้ถูกจำกัดอยู่แค่ภายในมัลติเอฟเฟกต์เท่านั้น
" สำหรับผม ปรกติผมจะชอบซาวด์ที่เป็นอะนาล็อกและพวกเอฟเฟกต์ก้อนอยู่แล้ว และการที่มีช่อง INSERT เข้ามาทำให้ผมสามารถพ่วงเอฟเฟกต์จากภายนอกเข้าไปเพื่อใช้งานร่วมกันกับ AX3000G ได้ ทำให้ผมสามารถสร้างสรรค์ซาวด์ได้กว้างขึ้นและตรงกับความต้องการมากยิ่งขึ้น หรือถ้าผมชอบเสียงแตกของเอฟเฟกต์ก้อนตัวอื่นที่ไม่มีใน AX3000G ผมก็สามารถพ่วงเข้าไปได้ ”
“ ปรกติผมจะชอบพ่วงเสียงแตกเพื่อใช้เป็นตัวบูสต์สัญญาณและเอฟเฟกต์ Octave และ Phaser เข้าไปด้วย และยังสามารถใช้ปุ่ม INSERT เป็นตัวเปิด / ปิดการใช้งานของเอฟเฟกต์ภายนอกที่เราเอามาพ่วงทั้งชุดได้อีกต่างหาก การมีทั้งเอฟเฟกต์ลูป Sen/Return และเปิด/ปิดภายนอกที่เอามาพ่วงได้อย่างนี้ก็คงไม่ต้องห่วงกับเรื่องของปัญหาซาวด์ดร็อปแล้วครับ ” เอ๋ Wizard กล่าว
" และที่สำคัญคือใน AX3000G หากคุณเลือกหัวแอมป์ที่ต้องการแล้ว เครื่องจะจับคู่ตู้ลำโพงที่เหมาะสมให้กับคุณเองโดยอัตโนมัติ จุดนี้ผมว่าเป็นประโยชน์มากสำหรับเด็กรุ่นใหม่ที่อาจจะยังไม่ค่อยรู้เกี่ยวกับเอกลักษณ์ทางน้ำเสียงของแอมป์หรือแคแรกเตอร์ของตู้ลำโพงมากนัก ส่วนมืออาชีพที่พอจะเชี่ยวชาญเรื่องซาวด์ต่างๆแล้ว หากอยากจะลองจับคู่แอมป์กับลำโพงเองก็ทำได้ครับ " เอ๋ Wizard แนะ